ทำไมจึงเรียก “ข้าวตอกพระร่วง”
หน้าแรก » กรุพระ » เครื่องรางของคลัง » ทำไมจึงเรียก “ข้าวตอกพระร่วง”
“ครั้งพระร่วงได้เสด็จออกผนวช ในวันตักบาตรเทโว ณ วัดเขาพระบาทใหญ่ สุโขทัย หลังจากทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้โปรยเศษข้าวแล้วอธิษฐานให้กลายเป็นหิน จึงเรียกกันว่า “ข้าวตอกพระร่วง” บางส่วนมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาร เรียก “ข้าวพระร่วง” หรือ “ข้าวสารพระร่วง” ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะเกิดจากวาจาสิทธิ์ของพระร่วงเจ้า”


                                            รูปหล่อพระร่วง วัดพระร่วง

            คำว่า “พระร่วง” เป็นลักษณะของบุคลาธิษฐานที่ปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในรูปแบบของตำนานเมือง ตำนานพื้นบ้าน และ ตำนานทางศาสนา โดยแพร่หลายในดินแดนภาคเหนือตอนล่างและทางตอนเหนือของสยามประเทศ ก่อนจะกระจายตัวมายังดินแดนภาคกลางในเขตเมืองละโว้หรือลพบุรี เค้าโครงเรื่องเล่าของ ‘พระร่วง’ จะปรากฏให้เห็นในเอกสารต่างๆ  เช่น พงศาวดารลาวเฉียง ซึ่งต่อมาภายหลังเรียก “พงศาวดารโยนก” ตลอดจน ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานพุทธสิหิงค์ ได้ให้ภาพลักษณ์ของพระร่วงในลักษณะของผู้นำหรือวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (Culture hero) โดยแสดงลักษณะของผู้มีฤทธิ์ ผู้มีอำนาจ มีความรู้ความสามารถ โดยมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของชาวบ้าน ตลอดจนแสดงให้เห็นในลักษณะของ "ภูมินาม" ในสถานที่ต่างๆ ตามเรื่องเล่าและคติความเชื่อที่สืบทอดกันมา

เรื่องราวของ “พระร่วง” ปรากฏในบริบททางประวัติศาสตร์ไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 โดยมีลักษณะเป็นตำนานบรรพบุรุษในตำนานเมือง ซึ่งแพร่หลายในแถบเขมรและมอญ ก่อนจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับประวัติความเป็นมาของเมืองในแถบภาคเหนือตอนล่าง รู้จักกันในรูปแบบของเพลงพระโถง (พระทอง) และเพลงนางนาค ซึ่งทั้งสองเพลงนี้ก็ได้เผยแพร่เข้ามายังสยามประเทศ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการบรรเลงเพื่อใช้ประกอบพิธีแต่งงาน   ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงไทยเดิมโบราณยุคแรกๆ ของไทย ซึ่งผูกจากตำนานที่กล่าวถึง ‘พระทอง’ ผู้เป็นเจ้าเมือง ได้บำเพ็ญตบะอยู่ริมแม่น้ำใหญ่จนพบกับ ‘นางนาค’ และได้ร่วมอภิรมย์สมสู่จนเกิดเป็นทารกชายได้นามต่อมาว่า “พระร่วง” และสืบราชสมบัติของพระทอง


ตำนานขอมดำดิน

            นอกจากนี้ เรื่องราวของ “พระร่วง” ยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตำนานนิทานพื้นบ้าน ที่สอดรับกับภูมิประเทศและลักษณะทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น ตำนานพระร่วงส่วยน้ำ, ตำนานขอมดำดิน, เรื่องพระร่วงมีวาจาสิทธิ์, ตำนานพระร่วงอรุณราชกุมาร, ตำนานพระร่วง-พระฤา (พระลือ)}  เรื่องพระร่วงทรงว่าว, ข้าวตอกพระร่วง, ปลาพระร่วง, โซกพระร่วง (เรื่องพระร่วงลับพระขรรค์),  ตำนานการทอดยอดผักบุ้งจากแก่งหลวง แม่น้ำยม ศรีสัชนาลัย ที่กล่าวถึงพระร่วงเสด็จไปหามารดาในนาคพิภพและหายลงไปในแก่งหลวง โดยเชื่อกันว่า เมื่อใดที่ผักบุ้งจากแก่งหลวงทอดยอดขึ้นไปพันพระบรมธาตุ พระร่วงจะเสด็จคืนนคร ฯลฯ



ทำนบพระร่วงบริเวณเขาพระบาทใหญ่                                                          ข้าวตอกพระร่วง

            สำหรับ “ข้าวตอกพระร่วง” นั้น ความจริงเป็นออกไซด์ของเหล็กชนิดหนึ่ง เรียกว่า แร่ LIMONITE  ซึ่งสามารถเกิดผลึกโดยอาศัยรูปผลึกของแร่ชนิดอื่นได้ มักพบตามแผ่นหินผุตามเทือกเขา โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาพระบาทใหญ่ จ.สุโขทัย เมื่อทุบแผ่นหินผุให้แตกจะพบหินสีสนิมเหล็กคล้ายลูกเต๋า บ้างก็เป็นสีน้ำตาลไหม้ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ถ้าก้อนใหญ่ทุบอีกก็จะแยกเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดตั้งแต่ 3 ซ.ม.- 3.5 ซ.ม. ซึ่งชาวบ้านจะเรียกชื่อว่า “ข้าวตอกพระร่วง” ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

            ... “ข้าวตอกพระร่วง” เป็นแร่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดขึ้นในสมัย พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระร่วงท่านเป็นกษัตริย์ที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เปล่งวาจาอะไรออกไปก็จะเป็นไปตามนั้น ในขณะที่พระองค์เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์

           และในวันออกพรรษาตักบาตรเทโว ณ วัดเขาพระบาทใหญ่ เมืองสุโขทัย หลังจากทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้โปรยเศษข้าวก้นบาตรพร้อมข้าวตอดอกไม้ลงไปบนลานวัด แล้วทรงอธิษฐานว่า ขอให้ข้าวตอกดอกไม้นี้กลายเป็นหิน มีอายุยั่งยืนนานชั่วลูกชั่วหลาน เมื่อใครที่ได้นำไปบูชา ขอให้เจริญด้วยโภคทรัพย์นานาประการ เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง จึงเรียกชื่อกันว่า “ข้าวตอกพระร่วง” บางส่วนมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาร เรียก “ข้าวพระร่วง” หรือ “ข้าวสารพระร่วง” ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะเกิดจากวาจาสิทธิ์ของพระร่วงเจ้า ... 


ข้าวตอกพระร่วง เจียรนัยแล้ว

            ข้าวตอกพระร่วง จึงได้รับความนิยมสะสมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาแต่โบราณของชาวเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลเมืองเก่า ได้นำมาเจียระไนขัดและฝนกับกระดาษทรายจนเกลี้ยงเกิดเป็นเม็ดหินสีดำคล้ายนิล ประกอบเข้ากับเครื่องเงินโบราณ แปรสภาพเป็นเครื่องประดับชิ้นงามพกติดตัวไปทุกที่ โดยเชื่อว่าเป็นสิริมงคลสูง บ้างก็นำมาฝนกับหินบดยาผสมน้ำใช้ทาแก้พิษสัตว์และพิษต่างๆ บางคนนำใส่ตลับสีผึ้งไว้ทาปาก เพื่อความเมตตามหานิยม อันเกี่ยวเนื่องกับความมีวาจาสิทธิ์ของพระร่วงเจ้าอีกด้วย


เครื่องประดับในรูปแบบต่างๆ

            ต่อมาได้มีการนำหินแร่ “ข้าวตอกพระร่วง” มาเจียระไนสร้างเป็นวัตถุมงคล หรือ ดัดแปลงเป็นเครื่องประดับในรูปแบบต่างๆ อย่างสวยงาม และเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างหาของแท้ยากขึ้นทุกที จะเช่าจะหามาเพื่อความเป็นสิริมงคลก็ต้องพิจาณากันให้ดีครับผม

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 เครื่องรางของคลังอื่นๆ

ประกาศจากระบบ