วัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นที่อุบัติของสุดยอดพระปิดตาสายหนึ่ง อันเป็นที่แสวงหาของผู้คนทุกผู้ทุกนาม อีกทั้งสนนราคาก็แพงลิบลิ่ว ทราบกันแต่ว่าผู้สร้างได้แก่ ‘หลวงปู่นาค’ แต่จะหาประวัติยืนยันถึงความเป็นมาของท่านก็ยากเย็นเหลือเกิน ด้วยผ่านเวลามาเนิ่นนาน ทราบความแต่จากคำบอกเล่าของท่านพระเลขานุการวัดห้วยจระเข้ คือ ท่านพิทยา ปริญญาโณ น.ธ.เอก ฝ่ายสาธารณูปการ ว่า ... เท่าที่ทราบนามเดิมของหลวงปู่ชื่อ “นาค” ไม่ทราบนามสกุล รวมทั้งไม่ทราบนามผู้ให้กำเนิด ท่านได้อุปสมบทที่วัดพระปฐมเจดีย์ ได้รับฉายา "โชติโก" ไม่สามารถสืบนามพระอุปัชฌาย์และนามพระกรรมวาจาจารย์ ...
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระขึ้น 4 รูป เพื่อพิทักษ์รักษาองค์พระปฐมเจดีย์ตามธรรมเนียมโบราณ เฉกเดียวกับการตั้งพระเถระพิทักษ์พระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ สำหรับ ‘พระปฐมเจดีย์’ นั้น ทรงแต่งตั้ง พระครูอุตตรการบดี ประจำทิศเหนือ พระครูทักษิณานุกิจ ประจำทิศใต้ พระครูปุริมานะรักษ์ ประจำทิศตะวันออก พระครูปาจิณทิศบริหาร ประจำทิศตะวันตก ซึ่ง ´หลวงปู่นาค´ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรทางทิศตะวันตก ในขณะที่จำวัดอยู่ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ ภายหลังท่านจึงได้ย้ายมาหาความสงบวิเวก และสร้างวัดขึ้นใหม่ในลำห้วยที่แยกตัวออกจากคลองเจดีย์พุทธบูชา พื้นที่ ต.บ่อพลับ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ต.นครปฐม) โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 จนถึงปี พ.ศ.2443 จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อเป็นทางการว่า "วัดนาคโชติการาม" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดใหม่ห้วยจระเข้" โดย หลวงปู่นาค เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านมีสหธรรมมิกที่อายุอ่อนกว่าหลายปี อันได้แก่ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก และ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว หลวงปู่นาคครองวัดอยู่ 11 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2441จนมรณภาพด้วยโรคชราภาพในปี พ.ศ.2452
หลวงปู่นาคเริ่มสร้าง “พระปิดตามหาอุตม์ เนื้อเมฆพัตร” ซึ่ง ‘เมฆพัตร’ เป็นโลหะที่ได้จากการเล่นแร่แปรธาตุตามตำราของไทยโบราณ เชื่อว่าเป็นธาตุกายสิทธิ์มีฤทธานุภาพในตัวเอง ‘เมฆพัตร’ เป็นส่วนผสมของตะกั่วและทองแดง มีกรรมวิธีการสร้างที่ซับซ้อน ในระหว่างหลอมต้องผสมตัวยาหลายชนิด มีอาทิ กำมะถัน ปรอท และว่านยา ได้แก่ ไพลดำ ต้นหิงหาย ไม้โมกผา ขิงดำ กระชายดำ สบู่แดง และ สบู่เลือด เป็นต้น ซัดเข้าไปในเบ้าหลอม พอสำเร็จจะได้โลหะสีดำเป็นมันเงาเลื่อมพราย แต่เปราะและแตกง่าย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 พระเกจิอาจารย์มักนิยมสร้าง ‘พระปิดตา’ อาจเกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกหนึ่ง และเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกหนึ่ง
พิมพ์ท้องป่อง พิมพ์หูกระต่าย
การสร้างพระปิดตาของหลวงปู่นาคนั้น ปรากฏหลักฐานว่าท่านเริ่มสร้างปี พ.ศ.2432-2435 ในขณะที่อยู่ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ ปรากฏมีทั้งเนื้อสัมฤทธิ์แก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อชินเขียว ในระยะแรกพิมพ์ยังไม่มีมาตรฐาน จนภายหลังสามารถสรุปได้ว่านิยมเล่นกัน 3 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ท้องแฟบ พิมพ์ท้องป่อง และ พิมพ์หูกระต่าย โดยยังไม่นับพิมพ์อื่นๆ ที่ท่านอาจจะสร้างไว้อีกต่างหาก
พิมพ์ท้องแฟบ
สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในคราที่พระองค์เสด็จพักแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ พร้อม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็จะเสด็จกราบนมัสการหลวงปู่นาคเป็นประจำ ซึ่งมีตำนานกล่าวว่า หลวงปู่ได้ถวายพระปิดตาไว้บูชาคู่พระวรกาย อีกทั้งหลวงยกบัตรเจ้าเมืองราชบุรีในสมัยนั้น ก็มีเสียงล่ำลือว่าท่านพกพระปิดตาหลวงปู่คู่กายเช่นกัน นอกจากนี้ สหายสหธรรมมิกรุ่นน้องที่มีอายุน้อยกว่าถึง 35 ปี คือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ก็พก ‘พระปิดตาหลวงปู่นาค’ ติดตัว เมื่อหลวงปู่บุญถึงแก่กรรม หลวงปู่เพิ่มได้เก็บรักษาบูชาต่อมา จนท่านมรณภาพ พระครูสิริชัยคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้วรูปต่อมา ก็ได้เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์วัดกลางบางแก้ว มาจนถึงทุกวันนี้
พระปิดตาหลวงปู่นาค ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แฝงเร้นด้วยพลังพุทธคุณและกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุตามตำรับโบราณ ผู้ใดบูชาติดตัวก็จะแคล้วคลาดจากอันตรายและมีเสน่ห์เมตตามหานิยม พระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้น มีพุทธลักษณะงดงาม ด้านศีรษะจะใหญ่ มือใหญ่ โยงก้นแต่ไม่ทะลุไปด้านหลัง มักปรากฏรอยจารของท่าน ราคาสูงเป็นหลักหลายแสน หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีกครับผม
โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |